ปิดตำนาน ‘ราชาโรงหนังแห่งสยาม’ 51 ปี ‘สกาลา’ เมืองไทย
“สกาลา โรงภาพยนตร์ที่เป็นตำนานและสร้างความผูกพันให้กับคอหนังหลายๆ ท่าน
เร็วๆ นี้ สกาลาจะลดรูปจากโรงภาพยนตร์กลายเป็นเพียงความทรงจำ”
โรงภาพยนตร์สกาลาก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 โดยคุณพิสิฐ ตันสัจจา ด้วยการทำสัญญาเช่าพื้นที่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งอยู่บนถนนพระราม 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เยื้องกันกับสยามดิสคัฟเวอรี โดยได้เปิดให้บริการครั้งแรกในวันที่ 31 ธันวาคม 2512 ด้วยภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องสองสิงห์ตะลุยศึก (The Undefeated)
ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กสกาลา Apex Scalar
สกาลา ตั้งชื่อตามโรงอุปรากร Teatro alla Scala แห่งเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี โดยคำว่า สกาลา มีความหมายว่า บันได ในภาษาอิตาลี สกาลาแห่งเมืองไทยนี้ได้รับการออกแบบโดยคุณจิระ ศิลป์กนก เป็นงานสถาปัตยกรรมในรูปแบบสมัยใหม่ช่วงหลัง (Late Modernist) ผสมกับการประดับลวดลายแบบอาร์ตเดโค (Art Deco) สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์และโดดเด่นคือเสาและฝ้าเพดานสีทอง พร้อมกับการแขวนแชนเดอเลียขนาดใหญ่ ภายในชั้นบนที่เป็นทางเข้าชมภาพยนตร์มีลักษณะเป็นทรงโค้ง มีเสารองรับตามจุดต่างๆ ทั้งหมดได้กลายเป็นลักษณะเฉพาะของโรงภาพยนตร์แห่งนี้ไปโดยปริยาย ด้วยรูปแบบที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์ ประกอบกับได้รับการทำนุบำรุงเป็นอย่างดีมาโดยตลอด ทำให้ในปี 2555 สกาล่าได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และยังเป็นสถานที่ยอดฮิตที่ชวนให้หนุ่มสาว (รวมถึงคนในช่วงวัยอื่นๆ) พากันมาถ่ายภาพเก็บเป็นที่ระลึกกับโรงภาพยนตร์แห่งนี้
ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Foto_momo
ในระยะแรก สกาลาจะเน้นฉายภาพยนตร์ในกระแสที่ได้รับรางวัล ต่อมาจึงได้มีการเปิดโอกาสให้คนทำหนังหน้าใหม่ได้แสดงฝีมือบ้าง มีการฉายหนังทางเลือก ซึ่งสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักเรียน นักศึกษาได้ แม้ปัจจุบันสกาลาจะกลับมาฉายหนังฟอร์มยักษ์และหนังในกระแสเหมือนเดิม แต่ยังคงมีการคัดสรรหนังคลาสสิกขึ้นหิ้งมาฉายอยู่เรื่อยๆ เช่น 2001: A Space Odyssey (1968) Gone with the wind (1939) The Bridge on river Kwai (1957) แผลเก่า (2520) นอกจากนี้ ด้วยสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของสกาลา จึงได้ถูกเช่าพื้นที่เพื่อจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น งาน Bangkok Design Week 2019 และงานคอนเสิร์ตอีกมากมาย
ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Foto_momo
แต่ใครจะไปคิดว่าในวันหนึ่งโรงภาพยนตร์สกาลาจะกลายเป็นเพียงประวัติศาสตร์และความทรงจำ หลายคนเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับการหมดสัญญาระหว่างสกาลาและจุฬาฯ และมีข่าวว่าจะปิดตัวไปตั้งแต่ปี 2560 พร้อมกับข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการทุบตึกสกาลาทิ้ง แต่จนแล้วจนรอด สกาลาได้ต่อสัญญาเพิ่มอีก 2 ปี ต่ออายุลมหายใจไปได้อีกระยะ
ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กสกาลา Apex Scalar
อาจด้วยผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ลมหายใจของสกาลาเริ่มแผ่วลง.. แม้ว่าสถานการณ์ของโควิด-19 ที่กำลังดีขึ้นเป็นผลให้โรงภาพยนตร์ได้กลับมาเปิดอีกครั้งตามมาตรการของภาครัฐ แต่สกาลากลับไม่เป็นอย่างนั้น จากแต่เดิมที่จะหมดสัญญาในปลายปีนี้ สกาลาได้ขอยกเลิกสัญญาก่อนกำหนด โดยวันที่ 23 มิถุนายน 2563 สกาลาได้กล่าวอำลาทางเฟซบุ๊ก พร้อมระบุว่า “LA SCALA ลาสกาลา วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 โรงภาพยนตร์จะเปิดไฟทุกดวง เพื่อให้มาเก็บภาพความสวยสง่า และบรรยากาศที่แสนมีเสน่ห์ ให้ความสว่างไสวของแสงไฟอยู่ในความทรงจำ” และอำลาผู้ชมด้วยกิจกรรมการฉายหนังเป็นครั้งสุดท้าย วันที่ 4-5 กรกฎาคม 2563 ดังนี้
– รอบ 12.00 น. พบกับ Blow-Up หนังคลาสสิกอันแสนฉูดฉาดและพิศวง ของผู้กำกับชั้นครูชาวอิตาเลียน มิเคลันเจโล อันโตนิโอนี ชนะเลิศรางวัลกรังปรีซ์ รางวัลสูงสุดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประจำปี 2510
– รอบ 15.00 น. ชมโปรแกรมควบสารคดีว่าด้วยความรุ่งเรืองและร่วงโรยของโรงภาพยนตร์
สแตนด์อโลนในเมืองไทย
“The Scala” ผลงานในโครงการเฉลิมฉลองประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เอเชีย โดยเทศกาลภาพยนตร์ปูซาน เมื่อปี 2559 ของ อาทิตย์ อัสสรัตน์ ที่บอกเล่าถึงอดีตอันหอมหวานควบคู่ไปกับเบื้องหลัง
ของคนทำงานในโรงภาพยนตร์สกาลา
“นิรันดร์ราตรี Phantom of Illumination” สารคดีเชิงทดลองปี 2560 ของ วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ที่เดินสายฉายตามเทศกาลต่าง ๆ มาแล้วทั่วเอเชีย ถ่ายทอดชีวิตของพนักงานฉายหนังของโรงหนังที่ต้องปิดตัว
และถูกทุบทำลายลง
– รอบ 18.00 น. ซาบซึ้งไปกับ “Cinema Paradiso” ผลงานของ จูเซปเป ทอร์นาทอเรที่เฉลิมฉลองความยิ่งใหญ่
ของโรงภาพยนตร์และที่สร้างความประทับใจให้ผู้ชมมาแล้วทั่วโลก เป็นดั่งบทส่งท้ายให้แก่สกาลา
ในฐานะสรวงสวรรค์ของคนรักหนังหลายต่อหลายคน
ทุกเรื่องฉายวันละรอบ เสาร์ที่ 4-อาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม 2563 ที่โรงภาพยนตร์สกาลา เป็นโอกาสสุดท้ายที่ท่านจะได้มาเก็บเกี่ยวความทรงจำและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของ “ราชาโรงหนังแห่งสยาม”
ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กสกาลา Apex Scalar