“ผีตาโขน – ผีขนน้ำ” สองประเพณีริมฝั่งโขง หนึ่งเลื่องชื่อ หนึ่งใกล้สาบสูญ

0
3202

ประเทศไทยนั้นเต็มไปด้วยงานประเพณีที่สวยงาม และโดดเด่นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสงกรานต์ และลอยกระทง โดยแต่ละภูมิภาคเองก็มีงานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นอีกมากมาย เช่นประเพณีชิงเปรต ภาคใต้, ประเพณีปอยหลวงหรือบุญปอยหลวง ภาคเหนือ,ประเพณีรับบัวของภาคกลาง และประเพณีผีตาโขน ภาคอีสานเป็นต้น

ทว่าบางเทศกาลกำลังจะเลือนหายไป เพราะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นงานเดียวกันกับผีตาโขน อย่าง ประเพณีผีขนน้ำ ของชาวตำบลนาซ่าว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย

แล้วผีตาโขนกับผีขนน้ำต่างกันอย่างไร…ลองไปดูกัน

 


 

ผีตาโขน ประเพณีอันโด่งดัง และโดดเด่น

 

(ขอบคุณภาพ : thaifest.tourismthailand.org)

ผีตาโขน เป็นงานประเพณีที่มีชื่อ “งานบุญหลวง” หรือที่เรียกเป็นภาษาท้องถิ่นว่า “บุญผะเหวด” จัดในช่วงเดือน 7 ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เดิมผีตาโขนมีชื่อเรียกว่า ผีตามคน สันนิษฐานว่า มีต้นกำเนิดมาจากมหาเวสสันดรชาดก ชาดกในทางพระพุทธศาสนา ที่ว่าถึงพระเวสสันดร และพระนางมัทรี จะเดินทางออกจากป่ากลับสู่เมืองหลวง บรรดาสัตว์ป่ารวมถึงภูติผีที่อาศัยอยู่ในป่านั้น ได้ออกมาส่งเสด็จด้วยอาลัย

โดยผีตาโขน แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ 1 . ผีตาโขนใหญ่ เป็นหุ่นรูปผีทำจากไม้ไผ่สานมีขนาดใหญ่กว่าคนธรรมดาประมาณ 2 เท่า แต่ละปีจะทำผีตาโขนใหญ่เพียง 2 ตัวผีตาโขนชาย 1 ตัว หญิง 1 ตัว ผู้มีหน้าที่ทำผีตาโขนใหญ่จะมีเฉพาะกลุ่มเท่านั้น คนอื่นไม่มีสิทธิ์ทำต้องได้รับอนุญาตจากผีหรือเจ้าก่อนซึ่งต้องทำทุกปีหรือทำติดต่อกันอย่างน้อยเป็นเวลา 3 ปี และ 2. ผีตาโขนเล็ก ไม่ว่าเด็กผู้ใหญ่ หญิงหรือชาย มีสิทธิ์ทำและเข้าร่วมสนุกได้ทุกคน แต่ผู้หญิงไม่ค่อยเข้าร่วมเพราะเป็นการเล่นค่อนข้างผาดโผนและซุกซน

 

(ขอบคุณภาพ : thaifest.tourismthailand.org)

ซึ่งงานจะจัดเป็นเวลา 3 วัน โดยมีวันโฮม ที่เป็นวันรวมตัว, วันแห่ที่มีการเดินขบวน และวันบูญ โดยมีความเชื่อกันว่า สำหรับคนที่เล่นหรือมีการแต่งตัวเป็นผีตาโขนใหญ่ ต้องถอดเครื่องแต่งกายผีตาโขนใหญ่ออกให้หมดและนำไปทิ้งในแม่น้ำหมัน ห้ามนำเข้าบ้าน เป็นการทิ้งความทุกข์ยากและสิ่งเลวร้ายไป และรอจนถึงปีหน้าจึงค่อยทำเล่นกันใหม่

นอกจากนี้ มีความเชื่อกันว่า คนที่แต่งกายเป็นผีตาโขนใหญ่ ห้ามใส่เข้าบ้าน จะต้องถอดเครื่องแต่งกายออกผีตาโขนใหญ่ออก และนำไปทิ้งในแม่น้ำ เพราะชาวบ้านถือว่าเป็นการทิ้งความทุกข์และสิ่งเลวร้ายออกไปชีวิต รอถึงปีหน้าจึงทำเครื่องแต่งกายใหม่

หน้ากากผีตาโขน

(ขอบคุณภาพ : ปณิตา สระวาสี)

เป็นหน้ากากที่ทำมาจากหวดนึ่งข้าวเหนียว และโคนก้านมะพร้าว จากนั้นนำมาเย็บเข้าด้วยกัน แล้วค่อยเขียนหน้าตาให้ดูน่ากลัว ทำจมูกใหญ่ๆ เหมือนผี เครื่องกายของผีตาโขนมีสีสันฉูดฉานโดยใช้เศษผ้าเย็บติดกันเป็นเสื้อ

 

ผีขนน้ำ ประเพณีอันเงียบเหงา และเริ่มเลือนหาย

 

(ขอบคุณภาพ : TAT Loei Office)

ผีขนน้ำ หรือที่มีอีกชื่อเรียกว่า “แมงหน้างาม” เป็นงานประเพณีเดือน 6  ในวันแรม 1-3 ค่ำ นับว่าเป็นงานบุญประจำปีของชาวบ้าน ต. นาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย โดยในอดีต เหล่าเกษตรกรได้จัดงานนี้เพื่อขอฝน เนื่องจากจังหวัดทางอีสานมีฝนตกน้อยมาก และจัดได้อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลามากกว่า 300 ปี ซึ่งแบ่งวันงานเป็น 3 วัน คือ วันโฮม เป็นวันแห่ดอกไม้, วันแห่ เป็นวันจัดขบวนแห่ผีขนน้ำ และวันทำบุญตักบาตร

โดยชาวบ้านตำบลนาซ่าว แต่เดิมมีเชื้อสายมาจากไทยพวนที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากยังฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ทำให้ได้อิทธิพลขอการนับถือผี ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่  ‘เจ้าปู่’ ซึ่งภายในงานจะมีการอัญเชิญวิญญาณเจ้าปู่มาเข้าร่างทรง เพื่อมาสื่อสารกับผีขนน้ำ

เดิมแล้วการอัญเชิญเจ้าปู่นั้น จะมีการนำวัว ควาย เป็นเครื่องเซ่นสังเวย ทว่าเวลาต่อมา จ้าปู่บอกความผ่านร่างทรงว่าให้ชาวบ้านทำ “แมงหน้างาม” หรือ “ผีขน” ขึ้น แทนการนำ วัว ควาย ซึ่งมีบุญคุณต่อชาวบ้านมาฆ่าเพื่อเป็นเครื่องสังเวยบูชา รวมถึงยังเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลตอบแทนบุญคุณของวัว ควาย ที่มีต่อชาวบ้านอีกทางหนึ่งด้วย

 

(ขอบคุณภาพ : สาวิตรี ตลับแป้น)

ในยุคแรกๆ ชาวบ้านจะพากันเรียกผีขนน้ำว่า “การละเล่นผีขน” แต่ทุกครั้งหลังจบการละเล่นผีขนฝนมักจะตก ชาวบ้านจึงพากันเปลี่ยนเรียกว่า “ผีขนน้ำ” เพราะขนน้ำมาจากฟ้า จนกลายเป็นชื่อที่เรียกกันติดปากจนทุกวันนี้

หน้ากากผีขนน้ำ

(ขอบคุณภาพ : สาวิตรี ตลับแป้น)

หน้ากากของผีขนน้ำ จะเป็นหน้ากากที่ทำมาจากไม้เนื้ออ่อน อย่าง ไม้พญาสัตบรรณ และไม้ต้นนุ่น แล้วเขียนลวดลายต่างๆ เช่นลายบัวเครือและผักแว่นให้สวยงาม นอกจากนี้ยังมีการทำให้หน้ากากมีลักษณะคล้ายวัวควาย ตาโต จมูกโต ฟันใหญ่ ปากมีรอยยิ้ม ใช้ไม้หวายทำส่วนเขา และเอากาบกล้วยตากแห้งทำส่วนผม โดยทุกเพศทุกวัยสามารถแต่งเป็นผีขนน้ำได้ไม่มีข้อจำกัด และไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ ทั้งสิ้น


แม้ว่าสองประเพณีนี้จะมีความคล้ายคลึงกัน เนื่องมาจากอยู่ในพื้นที่ที่ใกล้เคียงกัน ทว่าแต่ละประเพณีย่อมมีรายละเอียดและเอกลักษณ์ที่แตกต่าง ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้ผู้มาเข้าร่วมหรือเยี่ยมชมสนใจและทำให้เกิดการสืบสานเรื่องราวต่อไปไม่ให้เลือนหายไปจากสังคม

 

ขอบคุณข้อมูล : https://www.sac.or.th/databases/rituals/detail.php?id=109

https://sites.google.com

https://www.baanjomyut.com

https://www.slideshare.net/

 

เรื่องโดย : The Dawn