เปิดความหมายวันสำคัญของไทย ที่เป็นมากกว่าวันหยุดราชการ

0
1564

เมื่อพูดถึงวันสำคัญ มักจะถูกยกให้เป็นวันหยุดราชการ ถือว่าเป็นวันที่หลายคนต่างเฝ้ารอ บ้างก็นึกถึงการใช้เวลาอยู่ร่วมกับครอบครัว บ้างก็นึกถึงการไปเที่ยวพักผ่อน หรือการทำอะไรต่างๆ ที่อยากจะทำตามใจตัวเอง โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับเรื่องงานหรือการเรียน แต่เชื่อว่ามีหลายคนอาจยังไม่เข้าใจว่า ในแต่ละวันหยุดมีความสำคัญหรือมีที่มาที่ไปอย่างไร ดังนั้นเราจึงได้ทำการรวบรวมวันสำคัญของไทย และที่มาแห่งความหมายของวันนั้นๆ มาฝากเพื่อเป็นเกร็ดความรู้กัน

เดือนมกราคม  มีวันหยุดที่ถือว่าเป็นวันสากลที่ทั่วโลกใช้กันซึ่งคือ วันขึ้นปีใหม่ แน่นอนว่าวันนี้ตรงกับวันที่ 1 มกราคมในทุกๆ ปี ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่จะหยุดเพื่อการเฉลิมฉลองกับครอบครัว บ้างก็เดินทางท่องเที่ยว และนิยมเข้าวัดทำบุญกัน เพื่อเป็นการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ตามความเชื่อทางศาสนาพุทธที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือ

เดือนกุมภาพันธ์ มีวันสำคัญได้แก่ วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 โดยตามหลักศาสนาพุทธ ในวันนี้มีเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน คือ พระโคตมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา มีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ พระภิกษุ 1,250 รูป ได้มาประชุมพร้อมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย ซึ่งพระภิกษุทั้งหมดนั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6

เดือนเมษายน มีวันสำคัญได้แก่ ได้แก่  วันจักรี  เป็นวันแห่งการก่อตั้งราชวงศ์จักรี  (ราชวงศ์ที่ปกครองประเทศไทย) ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ทั้งยังเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กษัตริย์รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างกรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงอีกด้วย จึงนับเป็นวันครบรอบกรุงเทพมหานคร ซึ่งในปัจจุบัน (พ.ศ. 2563) กรุงเทพมหานครมีอายุครบ 238 ปีแล้ว

วันสงกรานต์  อีกวันสำคัญที่ถูกประกาศให้เป็นวันหยุด ซึ่งถือเป็นวันสำคัญทางประเพณีไทย ที่ยึดถือกันมาอย่างยาวนาน จะตรงกับวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี ประชาชนจะออกมาทำบุญตักบาตร และเล่นน้ำสงกรานต์กันตามท้องถนน

ทั้งนั้นวันที่ 13 เมษายน หมายถึงวันผู้สูงอายุเป็นวันที่ทางรัฐบาลกำหนดไว้ เพื่อให้ลูกหลานได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ ต่อมาวันที่ 14 เมษายน ถือวันครอบครัว และวันที่ 15 เมษายน ถือเป็นวัน เถลิงศก หรือ วันขึ้นศก ซึ่งเป็นวันที่เริ่มนับเป็นจุดเปลี่ยนของศักราชใหม่ตามแบบฉบับปฏิทินไทยนั่นเอง

(ขอบคุณภาพ :http://www.dhammathai.org/day/visaka.php)

เดือนพฤษภาคม มีวันสำคัญได้แก่ วันวิสาขบูชา ถือเป็นอีกหนึ่งวันที่มีความสำคัญทางศาสนาพุทธ ที่ทางรัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ นอกจากนี้วันดังกล่าวยังวันสำคัญในระดับนานาชาติตามข้อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในศาสนาพุทธ 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า โดยทั้งสามเหตุการณ์ได้เกิด ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6

วันฉัตรมงคล เป็นวันที่ระลึกในการครบรอบปีที่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.10 (กษัติรย์องค์ปัจจุบัน) ทรงรับพระบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทยโดยสมบูรณ์  ซึ่งตรงกับวันที่  4 พฤษภาคม ของทุกปี

(ขอบคุณภาพ : https://www.khaosod.co.th/)

วันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ  วันที่กำหนดให้มีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่ท้องสนามหลวง นับว่าเป็นพระราชพิธีที่มีความเก่าแก่สืบต่อมาตั้งแต่โบราณเพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเกษตรกรของชาติ อีกทั้งยังเป็นการระลึกถึงความสำคัญของเกษตรกรที่มีต่อเศรษฐกิจไทย

เดือนมิถุนายน มีวันสำคัญได้แก่  วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี (พระราชินีในกษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน) ซึ่งตรงกับวันที่ 3 มิถุนายน ของทุกปี

เดือนกรกฎาคม มีวันสำคัญได้แก่  วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุก ๆ ปี  โดย  วันอาสาฬหบูชา คือวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้ได้ 2 เดือน โดยแสดงปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 จึงถือว่าวันนี้มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนพุทธศักราช 45 ปี

(ขอบคุณภาพ : https://cac.kku.ac.th/)

วันเข้าพรรษา ถือเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ เนื่องจากเป็นวันที่พระสงฆ์จะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า “จำพรรษา”

(ขอบคุณภาพ :https://www.matichon.co.th/)

วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.10 (กษัตริย์องค์ปัจจุบัน) ซึ่งตรงกับวันที่ 28 กรกฎาคม ของทุกปี

เดือนสิงหาคม มีวันสำคัญได้แก่   วันแม่แห่งชาติ วันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงคือ วันที่ 12 สิงหาคม จึงถือเป็นวันแม่แห่งชาติ เริ่มในปี พ.ศ. 2519 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

เดือนตุลาคม มีวันสำคัญได้แก่  วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9 ) ซึ่งตรงกับ วันที่ 13 ตุลาคม ทางรัฐบาลจึงประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ

วันปิยมหาราช เป็นวันสำคัญที่ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

เดือนธันวาคม มีวันสำคัญได้แก่  วันพ่อแห่งชาติ จะตรงกับวันที่ 5 ธันวาของทุกปี ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) โดยได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2523

วันรัฐธรรมนูญ ตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี โดยจัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นการระลึกถึงรัฐธรรมนูญฉบับแรกอันเป็นฉบับถาวร เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และเป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7  ได้พระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

 

เรื่องโดย : llay_ma