ไขข้อสงสัย! อาหารไทย ขายแค่ในไทย…แต่ดันไปใช้ชื่อเทศ

0
2663

ที่ประเทศไทยเรื่องอาหารถือเป็นจุดเด่นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง มีชื่อเสียงโด่งดังอย่างมาในต่างประเทศ แล้วเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า บางครั้งอาหารไทยบางชนิดแต่ทำไมใช้ชื่อที่มาจากต่างประเทศ ทั้งๆ ที่เป็นอาหารไทยแท้ 100% แถมยังมีขายแค่ที่ไทยเท่านั้น แน่นอนว่าทุกอย่างมันต้องมีที่มาที่ไป ถ้าคุณก็เป็นหนึ่งในคนที่ตั้งคำถามนี้อยู่ และยังหาคำตอบไม่ได้เหมือนกันแล้วละก็

วันนี้เราไปสืบค้น รวบรวมมาให้ได้รู้กันว่ามีอาหารไทยอะไรบ้าง ที่ยืมชื่อต่างประเทศมาใช้ และมีที่มาของชื่อนั้นได้อย่างไร รับรองว่าล้ำลึกไม่แพ้รสชาติกันเลยทีเดียว

1. ข้าวผัดอเมริกัน

เมนูนี้อย่าว่าแต่คนต่างชาติ งง เพราะคนไทยเองก็ งง! เพราะเมนูข้าวผัดจานนี้ ไม่ได้เป็นเมนูอาหารฝรั่งไม่ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเทศสหรัฐอเมริกาเลย แถมเป็นเมนูนี้เกิดขึ้นจากความคิดและฝีมือของคนไทย ซึ่งว่ากันว่า จุดเริ่มมาจากร้านอาหารแห่งหนึ่งที่ดอนเมือง ได้รับออร์เดอร์จัดอาหารเช้าและอาหารกลางวันจากสายการบินหนึ่ง แต่ได้ยกเลิกเที่ยวบินไป ซึ่งอาหารที่เตรียมไว้เป็นอาหารแบบอเมริกันก็เลยเหลือทั้งหมด คุณหญิงสุรีพันธ์ก็ได้นำของที่เหลืออย่าง ไส้กรอก ไข่ดาว และข้าวผัด มาทำใหม่และตั้งชื่อเมนูนี้ว่า ‘ข้าวผัดอเมริกัน’

แต่อีกกระแสหนึ่งก็กล่าวว่า ในช่วงสงครามเวียดนามซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2500 ถึง พ.ศ. 2518 มีพ่อครัวชื่อโกเจ๊ก ได้คิดค้นเมนูข้าวผัดอเมริกันให้ทหารอเมริกันที่ประจำการอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา

 

2. ขนมโตเกียวญี่ปุ่น

(ขอบคุณภาพ : https://jarnprod.blogspot.com)

ขนมยอดฮิตที่เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่คนไทย ที่ถามใครๆ ก็รู้จักและเคยลิ้มลองรสของ ‘ขนมโตเกียวญี่ปุ่น’ กันมาตั้งแต่เด็กเลยทีเดียว แต่มีแค่ในไทยเท่านั้นนะจ๊ะที่ญี่ปุ่นไม่มีนะ โดยขนมโตเกียวญี่ปุ่นคล้ายกับ ‘ขนมโดรายากิ’ ของญี่ปุ่น ทำมาจากแป้งแพนเค้กแผ่นบาง ๆ แล้วม้วนห่อไส้ซึ่งมีด้วยกันหลากหลายไส้ เช่น ไส้กรอก, ไข่นกกระทา, ไส้ครีมรสหวานต่าง ๆ

เชื่อกันว่าเริ่มเข้ามาครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2510 ที่ห้างสรรพสินค้าไทยไดมารู ซึ่งเป็นกิจการห้างสรรพสินค้าของญี่ปุ่นมาเปิดดำเนินกิจการครั้งแรกในประเทศไทย (ย่านราชประสงค์) นับเป็นห้างฯ ที่ได้รับความนิยมมากในยุคนั้น ส่วนขนมโตเกียวเชื่อว่ามีจุดกำเนิดอยู่ที่ห้างฯ แห่งนี้ โดยดัดแปลงมาจากขนมโดรายากิของญี่ปุ่น แล้วตั้งชื่อขนมของตนเองที่ทำขึ้นใหม่นี้ว่า ‘ขนมโตเกียว’ซึ่งปัจจุบันนี้บางทีขนมโตเกียวก็จะแอดวานซ์ เป็นขนาดโตเกียวยักษ์ ใหญ่จนกินแทนข้าวได้

 

3. ขนมจีน

(ขอบคุณภาพ : en.wikipedia.org และ charinyaskitchen.com )

เมนูนี้เป็นอะไรที่มีหลายชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปตามภูมิภาคของไทย แต่ที่เป็นชื่อกลางที่คนไทยรู้จักกันอย่างทั่วถึงคือ ‘ขนมจีน’ แต่มันไม่ใช่อาหารจีนตามชื่อเรียกแต่อย่างใด แต่เป็นอาหารมอญเพราะคำว่า ‘ขนมจีน’ มาจากคำว่า ‘คะนอมจีน’ คะนอมแปลว่า เส้น และ จีน แปลว่า สุก รวมกันก็คืออาหารเส้นสุก แต่พอมาอยู่ที่ไทยเลยเรียกง่ายๆ ว่า ขนมจีน (คนภาคกลางเรียก) / ข้าวปุ้น (คนภาคอีสานเรียก) /ขนมเส้น (คนภาคเหนือเรียก) / หนมจีน (คนภาคใต้เรียก)

 

4. ขนมอาลัว

(ขอบคุณภาพ : bannuntawan.com)

แค่ฟังชื่อครั้งแรกแล้วก็ทำให้คิดถึงเมนูอาหารที่มาจากแถบยุโรปแน่นอน ใช่แล้วเพราะเจ้าขนมชนิดนี้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศโปรตุเกส โดยคุณท้าวทองกีบม้า ที่เป็นคริสตังเชื้อสายโปรตุเกส ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยคุณท้าวทองกีบม้า ได้ดัดแปลงส่วนผสมให้เป็นไทยมากขึ้น ขนมจึงมีกลิ่นที่หอม หวาน หลากสีเหมือนลูกอมหลอกเด็ก บางที่ก็จะเป็นอบควันเทียนให้หอมน่ากิน และให้ชื่อ ‘อาลัว’ น่าจะมาจากคำว่า Allure ที่แปลว่า มีเสน่ห์น่าดึงดูด แต่ขนมชื่อนี้ที่โปรตุเกสไม่มีนะจ๊ะ

 

5. ลอดช่องสิงคโปร์ 

(ขอบคุณภาพ : https://www.pim.in.th)

ลอดช่องเป็นขนมหวานของไทย มีวัตถุดิบเป็นแป้งข้าวเจ้า ที่ใครๆ เมื่อได้ชิมแล้วล้วนติดอก ติดใจ ไปตามๆ กัน แต่ว่าถ้าเป็นชื่อ ‘ลอดช่องสิงคโปร์’ ล่ะ? หรือว่าที่สิงคโปร์มีลอดช่องเหมือนกันที่ไทย? ทำเอาหลายคนสงสัยกันใหญ่ว่าสรุปยังไงกัน จากข้อมูลมีการระบุว่าลอดช่องเป็นขนมพื้นบ้านเป็นที่นิยมแพร่หลาย และมีจุดกำเนิดร่วมกันทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เชื่อว่าต้นกำเนิดมาจากประเทศอินโดนีเซีย)

ต่อมาในไทย ช่วงปีพ.ศ.2504 ก็ได้เกิดขนมลอดช่องที่แตกแขนงขึ้นมา นั่นก็คือ ‘ลอดช่องสิงคโปร์’ ซึ่งทำด้วยแป้งมันสำปะหลังแทนแป้งข้าวเจ้า และชื่อนี้ก็ได้มาเพราะว่าเป็นเมนูที่คิดค้นโดยร้าน ‘สิงคโปร์โภชนา’ ซึ่งเป็นร้านอาหารที่ตั้งอยู่หน้าโรงภาพยนตร์สิงคโปร์บนถนนเยาวราช หรือ ย่านไชน่าทาวน์ ในกรุงเทพมหานครนี่เอง

 

เรื่องโดย : llay_ma