4 อันดับโรงเรียนชายล้วนที่มีประวัติเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

0
5545

พาชม 4 อันดับโรงเรียนชายล้วนที่มีประวัติเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่มจากการเป็นโรงเรียนสอนศาสนา และได้รับการอุปถัมภ์จากพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งบางโรงเรียนนั้นยังเป็นโรงเรียนชายล้วนมาจนถึงปัจจุบัน แต่บางเรียนได้มีการปรับให้เป็นโรงเรียนสหศึกษา คือ มีการสอนทั้งนักเรียนชายและนักเรียนหญิง 

 

1.โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย (Bangkok Christian College หรือ BCC) เป็นโรงเรียนเอกชนที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยและเป็นโรงเรียนชายล้วนแห่งแรกในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2395 หรือ ค.ศ. 1852 โดยคณะคณะมิชชันนารีชาวอเมริกาที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาในไทย โดยมีการเปิดโรงเรียนขึ้นอย่างเป็นทางการในหมู่บ้านมอญ ต่อมาในปี พ.ศ. 2400  โรงเรียนได้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จึงได้มีการย้ายไปอยู่บริเวณตำบลสำเหร่ มีชื่อเรียกใหม่อย่างเป็นทางการว่า “สำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสคูล” ต่อมาได้มีการผนวกเข้ากับ “บางกอกคริสเตียนไฮสคูล” และย้ายไปจัดตั้งบริเวณถนนประมวญ เปลี่ยนชื่อเป็น “กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย” ในปี พ.ศ. 2456 และยังคงสถานะเป็นโรงเรียนชายล้วนมาจนถึงปัจจุบัน

ขอบคุณภาพ : โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

 

2.โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (Suankularb Wittayalai School หรือ S.K.) เป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของประเทศไทย เปิดสอนเฉพาะนักเรียนชายในระดับชั้นมัธยมศึกษา ก่อตั้งขึ้นปี พ.ศ. 2425 หรือ ค.ศ. 1882 จัดตั้งโดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งได้มีการใช้พื้นที่ในพระตำหนักสวนกุหลาบ แรกเริ่มใช้ชื่อว่า “โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ” จัดการเรียนการสอนทั้งฝึกหัดทหาร และเรียนแบบสามัญเหมือนโรงเรียนทั่วไป ต่อมา ร.5 ทรงตัดสินพระทัยว่า หากเปลี่ยนให้เป็นโรงเรียนสำหรับข้าราชการทั่วไปจะเป็นประโยชน์กว่า จึงได้เปลี่ยนฐานะนักเรียนจากทหารมาเป็นนักเรียนพลเรือน นอกจากนั้นได้โปรดฯให้สร้างตึกยาวทางพระราชวังด้านใต้ใช้เป็นที่เรียนและที่อยู่นักเรียนอีกหลังหนึ่งด้วย กระทั่งปี พ.ศ. 2436 จึงขยายออกไปตั้งนอกพระบรมมหาราชวังและเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนสวนกุหลาบ” โดยปัจจุบัน มีสถานศึกษาในเครือที่ใช้ชื่อ สวนกุหลาบวิทยาลัย ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยทั้งหมด 11 แห่ง ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, สมุทรปราการ, ปทุมธานี, ปทุมธานี (รังสิต), ชลบุรี, เพชรบูรณ์, สระบุรี, นครสวรรค์, กรุงเทพมหานคร (ธนบุรี) และ นครศรีธรรมราช ซึ่งเหลือเพียงสาขาแรกเท่านั้นที่ยังคงสถานะเป็นโรงเรียนชายล้วน

ขอบคุณภาพ : โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

 

3.โรงเรียนอัสสัมชัญ (Assumption College หรือ AC) เป็นโรงเรียนเอกชน ก่อตั้งวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2428 หรือ ค.ศ. 1885 โดยบาทหลวงเอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์ ชาวฝรั่งเศส เจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญ แรกเริ่มได้มีการใช้ชื่อว่า “โรงเรียนอาซัมซาน กอเล็ศ” ต่อมาในปี พ.ศ. 2453 หรือ ค.ศ. 1910 ได้เปลี่ยนชื่อจากมาเป็น “โรงเรียนอัสสัมชัญ” และใช้ชื่อย่อว่า อสช แปลว่า “ตำแหน่งที่สำหรับระงับบาปและหาวิชาความรู้” ส่วนชื่อ Assumption หมายถึงพระนางพรหมจารี มารีอา พระชนนีของพระผู้เป็นเจ้า ได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ ทั้งกายและวิญญาณ โดยโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก ยังคงสถานะเป็นโรงเรียนชายล้วนมาจนถึงปัจจุบัน

ขอบคุณภาพ : โรงเรียนอัสสัมชัญ

 

4.โรงเรียนเทพศิรินทร์ (Debsirin School หรือ DS/ท.ศ.) เป็นโรงเรียนรัฐบาลที่ได้รับการสถาปนาจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2428 โดยในช่วงแรกของการจัดตั้งโรงเรียนนั้น ได้อาศัยศาลาการเปรียญของวัดเทพศิรินทราวาสเป็นที่ทำการเรียนการสอน พอช่วงปี พ.ศ. 2438 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ได้ทรงดำริที่จะสร้างตึกเรียนหลังแรกขึ้น โดยตึกนี้ออกแบบให้เป็นศิลปะแบบโกธิค ซึ่งถือว่าเป็นอาคารศิลปะโกธิคยุคแรกและมีที่เดียวในประเทศไทย โดยมีสมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้านริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ออกแบบ ปัจจุบัน โรงเรียนเทพศิรินทร์มีสถานศึกษาในเครือที่ใช้ชื่อ เทพศิรินทร์ ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยทั้งหมด 10 แห่ง ประกอบไปด้วย กรุงเทพมหานคร, กรุงเทพมหานคร (ร่มเกล้า), ปทุมธานี, นนทบุรี, ฉะเชิงเทรา, สระบุรี, กาญจนบุรี, ขอนแก่น, เชียงใหม่ 2 แห่ง, สมุทรปราการ และ ชลบุรี โดยมีแค่บางแห่งเท่านั้นที่ยังคงเป็นโรงเรียนชายล้วน

ขอบคุณภาพ : โรงเรียนเทพศิรินทร์