5 วัดไทยสไตล์จีนในกรุงเทพฯ
รูปแบบงานศิลปกรรมที่ไทยได้อิทธิพลจากจีนนั้น เริ่มปรากฏหลักฐานตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่กลิ่นอายเริ่มชัดเจนมากขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 3 เนื่องด้วยพระองค์ทรงติดต่อค้าขายกับชาวจีนและนิยมชมชอบวัฒนธรรมแบบจีนด้วย ทำให้อิทธิพลจากจีนแทรกซึมเข้ามาในไทยและปรากฏให้เห็นอย่างมากในงานศิลปกรรมตามวัดวาอาราม ฉะนั้นจะขอยกตัวอย่าง 5 วัดไทยสไตล์จีนที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อให้มองเห็นภาพได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
1.วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร
ที่มาภาพ : http://www.resource.lib.su.ac.th/ และ https://th.wikipedia.org/
สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดจอมทอง พอถึงสมัยรัชกาลที่ 3 พระองค์ปฏิสังขรณ์วัดขึ้นใหม่ทั้งวัดเสมือนสร้างใหม่ และถือกันว่าเป็นพระอารามหลวงของรัชกาลที่ 3 มีการนำศิลปกรรมจีนมาผสมผสานกับศิลปกรรมไทย โดยให้ชาวจีนสำเพ็งมาช่วยสร้างพร้อมทั้งสั่งช่างฝีมือจากเมืองจีนด้วย วัดแห่งนี้จึงได้รับรูปแบบอิทธิพลจากจีนไปแบบเต็มๆ ปรากฏทั้งที่บริเวณหน้าบัน ที่ประดับด้วยระเบื้องเคลือบ ลวดลายเป็นรูปสิ่งมงคลตามคติจีน หรือที่เรียกว่า ‘ฮก ลก ซิ่ว’ เช่น ค้างคาว ไก่ ดอกโบตั๋น, ตุ๊กตาทวารบาลจีนตั้งหน้าอุโบสถ งานจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถที่วาดลวดลายลายเครื่องตั้งเครื่องมงคลอย่างจีน เป็นต้น
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวันเวลา 09:00 – 17:00 น.
การเดินทาง : รถประจำทางสาย 167, 43 ลงป้ายวัดจอมทอง
รถไฟฟ้า BTS ไปลงสถานีวุฒากาศ และเข้าซอยไปประมาณ 2 กม.
2.วัดสุทัศนเทพวราราม
ที่มาภาพ : http://www.resource.lib.su.ac.th/
เดิมชื่อวัดมหาสุทธาวาส เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อให้เป็นวัดใจเมืองกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ใกล้กับเสาชิงช้า โดยวัดนั้นถูกบูรณะครั้งใหญ่สมัยรัชกาลที่ 3 รูปแบบงานศิลปกรรมจึงมีการผสมผสานระหว่างศิลปะไทยประเพณีเข้ากับอิทธิพลแบบจีน รวมถึงเรื่องคติพุทธศาสนาด้วย เช่น การประดับถะ (เจดีย์แบบจีน) จำนวน 28 องค์โดยรอบพระวิหาร ซึ่งมีการสันนิษฐานว่าเป็นการเปรียบถึงพระอดีตพุทธเจ้าหรืออาจแทนวิมานของเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนอื่นๆ นั้นเป็นการนำวัตถุแบบจีนเข้ามาตกแต่งบ้างเล็กน้อย อย่างพระวิหารหรือพระอุโบสถ แม้โดยรวมจะยังคงความเป็นศิลปะไทย แต่ก็ถูกแทรกซึมด้วยการประดับพนักระเบียงเป็นกระเบื้องปรุแบบจีน การประดับตุ๊กตาหินเป็นทวารบาลประจำวัด การประดับเขามอหรือภูเขาจำลอง เป็นต้น
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวันเวลา 06.00 – 18.30
การเดินทาง : รถประจำทางสาย 10 ,12 ,15 ,19 ,35 ,42 ,48 ,73 ,96 ลงป้ายวัดสุทัศน์หรือเสาชิงช้า
รถไฟฟ้า MRT ไปลงสถานีสามยอดและเดินต่อประมาณ 300 เมตร
3.วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/WatBovoranivesVihara/ และ https://www.facebook.com/siamhistory/
สร้างโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือตำแหน่งวังหน้า ในรัชกาลที่ 3 ศิลปกรรมภายในวัดมีการผสมผสานทั้งไทย จีน และตะวันตกร่วมด้วย ส่วนของศิลปกรรมจีนนั้นปรากฏทั้งบริเวณหน้าบันของพระอุโบสถ วิหาร และประตูทางเข้า ที่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ เป็นรูปมงคลแบบจีน ทั้งมีการสร้างศาลาจีน ซุ้มจีน และวิหารเก๋งจีน โดยภายในวิหารนี้มีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสามก๊กที่เขียนขึ้นโดยจิตรกรชาวจีนด้วย ทั้งยังมีการประดับตุ๊กตาหินจำนวนมาก และเกร็ดน่ารู้ที่น่าสนใจของวัดนี้คือ ‘เสี้ยวกาง’ ทวารบาลแกะสลักบนประตูทางเข้าวัด จะมีรอยสีดำๆ อยู่บริเวณปากของทวารบาล เนื่องจากคนสมัยก่อนมองว่ารูปทวารบาลนั้นมีหนวดเคราคล้ายกับคนจีน และสมัยก่อนคนจีนแก่ๆ มักจะสูบฝิ่น ผู้คนจึงมักไปขอพรและแก้บนกับทวารบาลด้วยการนำฝิ่นมาป้ายที่ปาก เป็นที่มาของทวารบาลปากดำในวัดแห่งนี้
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวันเวลา 06.00 – 18.30 น. โบสถ์เปิดเวลา 08.00 – 08.40 น. และ 20.00 – 21.00 น. ยกเว้นวันพระ เปิด 08.00 – 12.00 น. และ 13.00 – 16.00 น.
การเดินทาง : รถประจำทางสาย 12 ,15 ,33 ,56 ,68 ลงตรงบริเวณบางลำพูหรือหน้าวัดบวรฯ
รถไฟฟ้า BTS ลงสถานีสะพานตากสิน (สายสีลม) จากนั้นใช้ทางออกที่ 2 ไปยังท่าเรือด่วนเจ้าพระยา นั่งเรือด่วนเจ้าพระยาไปลงที่ท่าพระอาทิตย์ จากนั้นต่อรถแท็กซี่หรือรถตุ๊กตุ๊กไปวัดบวรฯ
4.วัดเทพธิดารามวรวิหาร
ที่มาภาพ : http://www.resource.lib.su.ac.th และ https://ja.foursquare.com/city-guide
สร้างเมื่อ พ.ศ. 2379 โดยรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชทานแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ หรือ พระองค์เจ้าหญิงวิลาศ พระราชธิดาของพระองค์ ศิลปกรรมโดยรวมนั้นผสมผสานทั้งแบบไทยประเพณีและแบบพระราชนิยมของรัชกาลที่ 3 จึงมีอิทธิพลงานแบบจีนเข้ามาผสมอยู่ด้วย อย่างบริเวณหน้าบันเป็นปูนปั้น ประดับกระเบื้องเคลือบเป็นรูปหงส์คู่และลวดลายทิวทัศน์แบบจีน โดยรูปหงส์นี้ถือเป็นเครื่องหมายของสตรีผู้สูงศักดิ์ ซึ่งในที่นี้สื่อถึง พระองค์เจ้าหญิงวิลาศ ภายในอุโบสถ ที่ฝาผนังและเสามีภาพใส่กรอบเป็นเรื่องราวเกร็ดพงศาวดารจีน โดยรอบวัดมีการประดับตุ๊กตาศิลาจีน มีทั้งที่เป็นรูปสัตว์และคน ลักษณะที่น่าสนใจคือบางตัวมีลักษณะท่าทางและการแต่งกายแบบจีน บางตัวทำท่าทางและแต่งกายแบบไทย เช่น ตุ๊กตาสตรีชาววังนั่งพับเพียบเท้าแขน เป็นต้น
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวันเวลา 08:00 – 17:00 น.
การเดินทาง : รถประจำทางสาย 2, 15, 39, 44, 47, 56, 59, 68, 79, 503, 509, 511
รถไฟฟ้า MRT ลงสถานีสามย่าน ต่อสาย 47 มาลงป้ายหน้านิทรรศน์รัตนโกสินทร์
รถไฟฟ้า BTS ลงสถานีสนามกีฬาฯ ต่อรถเมล์สาย 15, 47 มาลงป้ายหน้านิทรรศรัตนโกสินทร์ หรือลงสถานีสยาม ต่อรถเมล์สาย 15 ฝั่ง Digital Gateway หรือต่อรถเมล์สาย 79 ฝั่ง Siam Center มาลงป้ายหน้านิทรรศน์รัตนโกสินทร์
รถไฟฟ้า BTS ลงสถานีราชเทวี ต่อเรือโดยสารคลองแสนแสบท่าสะพานหัวช้าง ลงท่าผ่านฟ้าฯ
5.วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
ที่มาภาพ : http://www.watpho.com/th/home
สร้างขึ้นสมัยอยุธยาและถูกสถาปนาให้เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 สมัยรัตนโกสินทร์ และถูกบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงปรากฏอิทธิพลจากศิลปะจีนขึ้นภายในวัด สิ่งที่โดดเด่นภายในวัดเห็นจะหนีไม่พ้นพระเจดีย์สี่รัชกาล เป็นเจดีย์ทรงย่อมุมไม้สิบสอง มีขนาดใหญ่ ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลืิอบเต็มพื้นที่ ซึ่งเป็นอิทธิพลที่ได้รับมาจากจีน รวมทั้งกระเบื้องเคลือบเองก็มีการสั่งจากจีนเข้ามาในไทยด้วยเช่นกัน และอีกสิ่งที่พบมากภายในวัดคือตุ๊กตาหินแบบจีน หรือ ‘ลั่นถัน’ ประดับโดยรอบวัด มีทั้งรูปขุนนางฝ่ายบุ๋นและบู๊ รูปสัตว์ และรูปประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังมีการนำ ‘เขามอ’ หรือภูเขาจำลองที่นิยมในจีน มาประดับเข้ากับต้นไม้ ตุ๊กตาจีน เจดีย์จีน และรูปปั้นฤาษีดัดตน
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวันเวลา 08.00 – 18.30 น.
การเดินทาง : รถประจำทางสาย 1, 3, 6, ปอ.6, ปอ.7, ปอ.8, 9, 12, ปอ.12, 25, 32, 43, 44, ปอ.44, 47, 48, 51, 53, 82, 103
เรือด่วนเจ้าพระยา สามารถขึ้นฝั่งที่ท่าเรือท่าช้าง, ท่าเรือท่าเตียน, ท่าเรือปากคลองตลาด แล้วเดินเข้าประตูทางถนนท้ายวัง
รถไฟฟ้า MRT ลงสถานีสนามไชย ออกทางประตู 1 หน้ามิวเซียมสยาม และเดินต่อประมาณ 350 เมตร