ทำความรู้จัก “ข้าวเหนียวไทย” วัตถุดิบชั้นเลิศที่ใครได้ชิมก็ต้องติดใจ อร่อยไม่แพ้ชาติใดในโลก!

0
1217

หลังจากที่นักร้องสาว “มิลลิ (MILLI)” สร้างความฮือฮาด้วยการโชว์กินข้าวเหนียวมะม่วงบนเวทีงานเทศกาลดนตรี Coachella (โคเชลลา) จนทำให้ “ข้าวเหนียวมะม่วง” กลายเป็นกระแสฟีเวอร์ไปทั่วโลกโซเชียล วันนี้จึงจะพาไปทำความรู้จักข้าวเหนียวไทยให้มากขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นคู่หูสุดอร่อยของมะม่วงแล้ว ข้าวเหนียวยังสร้างสรรค์เมนูได้อีกสารพัด แถมยังถูกนำไปทำเป็นเครื่องดื่มมึนเมาพื้นบ้านของไทยอีกด้วย

‘มิลลิ’ บนเวที Coachella 2022

 

ก่อนอื่นต้องมาทำความรู้จักกับลักษณะของ “ข้าวเหนียว” กันก่อน เมล็ดข้าวเหนียวนั้นมีโมเลกุลที่เรียกว่า “อะไมโลเพกทิน” (amylopectin) เป็นโครงสร้างแบบกิ่ง และมีพันธะไกลโคไซด์ชนิดแอลฟา 1,4 และ 1,5 เกาะอยู่ ทำให้โครงสร้างเมล็ดข้าวเหนียวมีความเป็นระเบียบน้อย สามารถอุ้มน้ำได้ดี พองตัวได้มาก ส่งผลให้ข้าวเหนียวมีความเหนียวนุ่มมากกว่าข้าวเจ้า

 

6 สายพันธ์ข้าวเหนียวยอดนิยมของคนไทย
1.ข้าวเหนียวพันธุ์เขี้ยวงู ถูกขนานนามให้เป็น “ราชาข้าวเหนียว” ลักษณะเด่น คือ เมล็ดเรียวเล็กคล้ายเขี้ยวงู เมื่อหุงแล้วจะขึ้นหม้อ มีสีขาวมันวาว เกาะตัวเหนียวแต่ไม่เละ ให้รสสัมผัสนุ่มและหอม เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมของจังหวัดเชียงราย นิยมปลูกทางภาคเหนือ

2.ข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตอง เป็นข้าวเหนียวนาปี ลักษณะเด่นคือปลูกง่าย ให้ผลผลิตดี ทนทานต่อโรคและแมลง สามารถปลูกได้ในสภาพดินเค็ม จึงปลูกได้ทุกพื้นที่ สำหรับเมล็ดข้าวเมื่อหุงแล้วจะมีความเหนียวนุ่ม เมล็ดสวย มีต้นกำเนิดเกิดจากสถานีทดลองสันป่าตอง จ.เชียงใหม่

3.ข้าวเล้าแตก ชื่อนี้มาจากตำนานที่ว่า มีคนแก่คนหนึ่งขยันปลูกข้าวมาก เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวได้ก็นำไปเก็บในเล้าข้าว เก็บมากจนแน่นเล้า ทำให้เล้าแตกในที่สุด คนจึงเชื่อว่าพันธุ์ข้าวชนิดนี้ให้ผลผลิตมากจนทำให้เล้าแตก ลักษณะของเมล็ดคือ ใหญ่ป้อม รวงยาว เมื่อนำไปหุงจะได้ข้าวเหนียวที่เหนียวนุ่ม กลิ่นหอม รสหวานน้อย เป็นข้าวเหนียวประจำถิ่นอีสาน มีกำเนิดมาจาก จ.นครพนม

4.ข้าวเหนียวแดงใหญ่ เป็นพันธุ์ที่ปลูกง่าย ให้ผลผลิตมาก ขนาดรวงใหญ่ และทนทานต่อโรค มีคุณสมบัติที่โดดเด่นในเรื่องของความหอม นุ่ม อร่อย จึงเป็นที่นิยมนำไปทำขนมหวาน ปลูกมากในภาคอีสานและภาคเหนือ

5.ข้าวก่ำล้านนา ลักษณะข้าวคือมีสีดำ กลิ่นหอม อุดมไปด้วยสารอาหารและโภชนาการ สามารถดึงดูดแมลงได้ดี ชาวบ้านจึงนิยมปลูกปนกับข้าวชนิดอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงไปตอมข้าวขาวในนาข้าว ถูกปลูกใน 8 จังหวัดทางภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ แม่ฮ่องสอน

6.ข้าวไร่ลืมผัวเพชรบูรณ์ เป็นข้าวพื้นเมืองของชาวไทยภูเขา (เผ่าม้ง) ในเขตทางภาคเหนือ อ.พบพระ จ.ตาก ลักษณะเด่นของข้าวพันธุ์นี้คือมีสีดำคล้ายกับข้าวก่ำ มีความเหนียวนุ่ม หอม อร่อย อร่อยถึงขนาดที่ว่า ภรรยาหุงข้าวพันธุ์นี้ไว้รอสามีกลับมากินด้วยกัน แต่เนื่องจากสามีกลับมาช้า ด้วยความหิวภรรยาจึงทานก่อน ยิ่งกินก็ยิ่งเพลิน สุดท้ายกินจนหมดเกลี้ยง จนเป็นที่มาของชื่อพันธุ์ “ข้าวไร่ลืมผัว”

 

 

ส่วนเมนูที่นำข้าวเหนียวไทยมาเป็นวัตถุดิบนั้นค่อนข้างหลากหลายมาก เพราะทำได้ทั้งของคาว ของหวาน แม้กระทั่งเครื่องดื่มแอลกฮอล์ ในส่วนของคาว โดยปกติคนนิยมนำข้าวเหนียวไปทานคู่กับอาหารคาวชนิดอื่นๆ เช่น ส้มตำ หมูทอด หรือทำเมนู บ๊ะจ่าง อาหารประจำเทศกาลของชาวจีน

เมนู ข้าวเหนียบกับลาบหมู

เมนู บ๊ะจ่าง

สำหรับของหวานนั้นมีสารพัดเมนู โดยส่วนมากจะนำข้าวเหนียวไปนึ่งกับน้ำตาลทรายและกะทิ ให้กลายเป็นข้าวเหนียวมูน ทานคู่กับผลไม้หลากชนิด ทั้งมะม่วง ทุเรียน ขนุน นอกจากนี้ยังนำไปทานคู่กับข้าวเหนียวดำ สังขยา บ้างก็ยัดไส้ด้วยกล้วย เผือก ถั่วดำ แล้วห่อด้วยใบตอง จากนั้นนำไปนึ่งจนได้เป็นข้าวต้มมัด หากนำไปปิ้งก็จะได้เป็นข้าวเหนียวปิ้ง เป็นต้น

 

เมนู ข้าวเหนียวมะม่วง

เมนู สังขยา

ขณะที่บางพื้นที่มีการนำข้าวเหนียวไปทำเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย เช่น สาโท เหล้าอุ โดยเป็นการนำข้าวเหนียวมาผ่านการหมักจนเกิดเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คล้ายกับการทำสาเกของญี่ปุ่น ฉะนั้น “ข้าวเหนียวไทย” จึงนับได้ว่าเป็นวัตถุดิบที่รังสรรค์เมนูออกมาได้หลากประเภท หลายเมนู ยิ่งผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย รับรองได้ว่าข้าวเหนียวไทยนำไปประกอบอาหารได้อร่อยไม่แพ้ชาติใดในโลกแน่นอน

สาโท

เหล้าอุ

ขอบคุณภาพ : บะจ่าง เจ้าเก่า ลุมพินี, ข้าวเหนียวมูนคุณกิ๊ก, พืชเกษตร, ศิลปวัฒนธรรม