เตรียมอำลา 105 ปี “สถานีรถไฟหัวลำโพง” ศูนย์กลางการเดินทางของคนทุกชนชั้น

0
995

เตรียมปิดตำนาน 105 ปี สถานีรถไฟหัวลำโพง ระบบขนส่งที่มีการเข้า-ออกของผู้คนต่อวันนับหมื่น โดยคมนาคมมีแผนการที่จะหยุดให้บริการรถไฟที่สถานีกลางบางซื่อ และจัดตั้งให้สถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางแห่งใหม่ของประเทศไทย แล้วอนาคตของหัวลำโพงจะไปในทิศทางไหนกัน?

ขอบคุณภาพ : ทีมนั่งรถไฟกับนายแฮมมึน

“สถานีรถไฟกรุงเทพ” หรือที่คุ้นหูกันดีในชื่อ “สถานีรถไฟหัวลำโพง” เริ่มมีการก่อสร้างในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ.2453 ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้อย่างเป็นทางการ วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2459 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ ทรงกระทำพิธีกดปุ่มสัญญญาณไฟฟ้าให้รถไฟขบวนแรกเดินเข้าสู่สถานีกรุงเทพ

ขอบคุณภาพ : ทีมนั่งรถไฟกับนายแฮมมึน

สถานีรถไฟหัวลำโพง สร้างบนพื้นที่ราว 120 ไร่ ตั้งอยู่ในท้องที่ แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โดยข้อมูลจากเว็บไซต์การรถไฟแห่งประเทศ ได้อธิบายถึงการออกแบบสถานีรถไฟหัวลำโพงเอาไว้ว่า แบบก่อสร้างเป็นรูปโดมสไตล์อิตาเลียนผสมผสานกับศิลปะยุคเรอเนสซองซ์ ลักษณะคล้ายกับรถไฟเมืองแฟรงค์เฟิร์ตในประเทศเยอรมนี และวัสดุในการก่อสร้างก็เป็นวัสดุสำเร็จรูปจากเยอรมนี ส่วนลวดลายที่ประดับเป็นศิลปะที่มีความวิจิตรสวยงาม บันไดและเสาอาคารบริเวณทางขึ้นที่ทำการกองโดยสาร หรืออดีตที่เคยเป็นโรงแรมราชธานี ใช้วัสดุเป็นหินอ่อน โดยเฉพาะเพดานเป็นไม้สักสลักลายนูน หาดูได้ยาก จุดเด่นของสถานีรถไฟหัวลำโพงอีกอย่างหนึ่งคือ กระจกสีที่ช่องระบายอากาศ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งติดตั้งไว้อย่างผสมผสานกลมกลืนกับตัวอาคาร เช่นเดียวกับตัวนาฬิกาที่ติดตั้งไว้กึ่งกลางยอดโดมสถานี ซึ่งมีอายุเก่าแก่พอๆ กันกับตัวอาคาร เป็นนาฬิกาสั่งทำพิเศษ ไม่ระบุชื่อบริษัทผู้ผลิตเหมือนนาฬิกาอื่นๆ ซึ่งความน่าทึ่งคือนาฬิกาเรือนดังกล่าวนั้นยังสามารถใช้งานได้จนถึงปัจจุบันนี้

ขอบคุณภาพ : ทีมนั่งรถไฟกับนายแฮมมึน

สถานีรถไฟหัวลำโพง ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการขนส่งผู้โดยสารทางรถไฟ ในแต่ละวันจะมีขบวนรถเข้า-ออก ประมาณ 200 ขบวน และมีผู้โดยสารเดินทางเข้านับหมื่นคนเลยทีเดียว โดยเฉพาะช่วงวันเทศกาลหรือวันหยุดยาวอย่างช่วงวันปีใหม่ วันสงกรานต์ จะมีผู้คนจำนวนล้นหลามเข้ามาใช้บริการนับแสนคน หากมองเกินไปกว่าเรื่องความเก่าแก่ของตัวสถานที่แล้ว สถานีรถไฟหัวลำโพงถือว่าเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และการคมนาคมขนส่ง ที่สมควรจะอนุรักษ์ไว้ให้เป็นมรดกของชาติ

ขอบคุณภาพ : สถานีกลางบางซื่อ

ทว่าล่าสุด เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 64 กระทรวงคมนาคมของไทย ได้เปิดเผยว่ามีการเร่งพิจารณาแนวทางการหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง ภายในวันที่ 23 ธ.ค. 64 โดยขบวนรถไฟจะให้บริการสิ้นสุดที่สถานีกลางบางซื่อแทน ซึ่งเมื่อข่าวนี้ได้ถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้ประชาชนเกิดกระแสต่อต้าน ไม่เห็นด้วยกับกรณีนี้อย่างมาก โดยหลายคนมองว่าเป็นการผลักภาระให้ประชาชนหรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และคนทำงานในเขตเมืองชั้นใน ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก เนื่องด้วยราคาที่ย่อมเยาว์และเวลาเดินทางค่อนข้างแน่นอน จากนี้ไปคงต้องจับตาดูกันต่อว่าอนาคตของหัวลำโพงจะเป็นอย่างไร พิพิธภัณฑ์ สำนักงาน หรือศูนย์การค้า?