เปิดปูม ‘วันลอยกระทง’ กับความเชื่อที่มีมากกว่าการขอมาแม่น้ำ

0
1715

อีกไม่กี่วันก็ใกล้จะถึงวันสำคัญ อย่างวันลอยกระทง ที่ถือเป็นหนึ่งในประเพณีอันดีงามและเลื่องชื่อของเมืองไทย ซึ่งกำหนดจัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยผู้คนต่างจะประดิษฐ์กระทงที่ทำด้วย ต้นกล้วย ใบตอง แม้กระทั่งขนมปัง หรือวัสดุทดแทนต่างๆ หลากหลายรูปแบบ นำมาลอยลงในแม่น้ำ ลำคลอง หรือแหล่งน้ำต่าง ๆ  พ่วงด้วยการจัดงานรื่นเริงเพื่อเฉลิมฉลอง และมีการการประกวดสาวงามขึ้น  ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป ในปี 2563 นี้ วันลอยกระทงตรงกับวันที่ 31 ตุลาคม 2563

แต่เชื่อเหลือเกินว่าหลายคนอาจจะมีคำถามอยู่ในใจว่า ‘ประเพณีลอยกระทง’ นอกจากเป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมายาวนานแล้ว ตามหลักความเชื่อการลอยกระทงถูกกำหนดขึ้นเพื่อสิ่งใดกัน มีที่มาที่ไปและความสำคัญอย่างไร เรามาหาคำตอบกันว่าหลักใหญ่ใจความของประเพณีที่งดงามนี้มีอะไรบ้าง

หากว่ากันตามจริงประเพณีลอยกระทงนั้น เป็นประเพณีโบราณของอินเดียที่ประเทศไทยรับเข้ามาปฏิบัติ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าทำกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เท่าที่ปรากฏกล่าวได้ว่ามีมาตั้งสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิษฐานว่า เดิมทีเห็นจะเป็นพิธีของพราหมณ์กระทำเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้ถือตามแนวทางพระพุทธศาสนามีการชักโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งประดิษฐาน ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทา (แม่น้ำนัมมทา เป็นแม่น้ำที่คู่ขนานกับทิวเขาวินธัย ไหลลงภาคตะวันตกของอินเดียแบ่งเขตอินเดียออกเป็นภาคเหนือและภาคใต้)

สำหรับในประเทศไทย ตำนานที่หาหลักฐานยืนยันไม่ได้ กล่าวไว้ว่าในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง มีนางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นครั้งแรก โดยแต่เดิมเรียกว่าพิธีจองเปรียง ที่ลอยเทียนประทีป และนางนพมาศได้นำดอกโคทม ซึ่งเป็นดอกบัวที่บานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสองมาใช้ใส่เทียนประทีป

อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีหลักฐานว่า ไม่น่าจะเก่ากว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยอ้างอิงหลักฐานจากภาพจิตรกรรมการสร้างกระทงแบบต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 1 จากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้เปลี่ยนแปลงจากการทำจากดอกบัวเป็นต้นกล้วยเพราะดอกบัวดังกล่าวหายากและมีน้อย จึงใช้ต้นกล้วยทำแทนแล้วดูไม่สวยจึงใช้ใบตองมาพับแต่งจนสวยสืบทอดมาจนปัจจุบัน

โดยมีความเชื่อกันว่าการลอยกระทง ถูกกำหนดขึ้นด้วยเหตุผลดังนี้

1. เพื่อขอขมาต่อพระแม่คงคาที่เราได้ใช้น้ำ ได้ดื่มกินน้ำ รวมไปถึงการทิ้งสิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงในแม่น้ำ

2. เชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที ที่พระพุทธเจ้าทรงได้ประทับรอยพระบาทไว้หาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ในประเทศอินเดีย

3. ชาวไทยในภาคเหนือมีความเชื่อว่า การลอยกระทงเป็นการบูชาพระอุปคุต ตามตำนานเล่าว่า พระอุปคุตทรงสามารถปราบพระยามารได้

4. เชื่อว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ เนื่องจากในกระทงส่วนใหญ่ตามความเชื่อ จะนิยมตัดเล็บ เส้นผม หรือใส่เหรียญกษาปณ์ลงไปในกระทง แล้วนำไปลอยในสายน้ำ เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ ลอยความทุกข์ ความโศกรวมถึงโรคภัยต่างๆ ให้ลอยไปกับแม่น้ำ

5. เชื่อว่าเป็นการ ต้อนรับพระพุทธเจ้าในวันเสด็จกลับจากเทวโลกเมื่อครั้งไปโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์

นอกจากนี้การลอยกระทง มีขึ้นในหลายประะเทศด้วยกัน อาทิ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)  , สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา , ประเทศกัมพูชา , ประเทศอินเดีย , ประเทศจีนด้วย

 

เรื่องโดย : llay_ma

ขอบคุณภาพ :เพจ งานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย 2563 (https://www.facebook.com/SukhothaiLoiKrathongFestival)