เปิด 5 เรื่องราวของ ‘ควาย’ สัตว์คู่บุญชาวนาไทย ที่มาพร้อมกับความแสนรู้สร้างรอยยิ้มสุดประทับใจ

0
2055

 

ควายขึ้นชื่อว่าเป็นสัตว์คู่บุญของชาวนาไทยมาช้านาน เพราะในอดีตไม่มีเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร ชาวนาตามพื้นที่ชนบทจึงใช้ควายในการไถ่นาเพื่อเตรียมการเพาะปลูก แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยปรากฎภาพควายไถ่นาแล้ว เนื่องด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วยผ่อนแรงเกษตรกรได้เป็นอย่างมาก พวกเขาจึงเลี้ยงควายเพื่อเอามูลของมันซึ่งเป็นปุ๋ยขั้นดี หรือที่เรียกกันว่าปุ๋ยคอกไปใส่ไร่นาทำให้พืชผลงดงามโดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี ทั้งนี้ยังมีแง่มุมของความผูกพันระหว่างคนเลี้ยงและเจ้าควายแสนรู้ของพวกเขา ทำให้เกิดเรื่องราวน่าประทับใจ และชวนขำไปในคราวเดียวกัน เราจึงอยากเสนอ 5 เรื่องของควายที่สร้างรอยยิ้มให้กับมนุษย์ผู้เป็นเจ้าชีวิตของมันดังต่อไปนี้

 

เจ้าทู่

 

เจ้าทู่เป็นควายที่ถูกไถ่ชีวิตจากโรงฆ่าสัตว์ โดยเจ้าของบริษัทรับเหมาก่อสร้างแห่งหนึ่งที่ตั้งใจจะไถ่ชีวิตควายเพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรผู้ยากจนเป็นจำนวน 30 ตัว แต่มีเจ้าทู่ตัวเดียวที่ไม่ยอมขึ้นรถไปกับตัวอื่นๆ จนกระทั่ง นายมณีรัตน์ เหมือดอดทน คนงานก่อสร้างได้พบกับเจ้าทู่ก็รู้สึกถูกชะตา ค่อยเลี้ยงดูให้ข้าวให้น้ำจึงเกิดความผูกพันธ์ นายมณีรัตน์เล่าว่า ตนเองจะขี่เจ้าทู่เดินทางจากแคมป์ที่พักในช่วงเช้า เพื่อไปทำงานที่ไซต์งานก่อสร้างที่ห่างไปประมาณ 2 กิโลเมตรและเดินทางกลับจากที่ทำงานมายังแคมป์ที่พักในช่วงหลังเลิกงาน รวมระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตรทุกวัน แถมเจ้าทู่ยังแสนรู้พอเวลาตนเองจะไปไหน เพียงแค่ไปยืนด้านหน้าเจ้าทู่ มันก็จะก้มหัวให้ตนเองเหยียบขึ้นไปนั่งบนหลังของมันและพาไปตามสถานที่ต่างๆ เมื่อเวลาที่ตนเองกินเลี้ยงฉลองกับเพื่อนคนงานด้วยกันเมาหลับไป เจ้าทู่ก็สามารถที่จะกลับมายังแคมป์ที่พักได้เองโดยไม่หลงทาง

 

 

เจ้าทองคำ

 

ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ สุรัตน์ แผ้วเกตุ ชาว จ.ชัยนาท ได้แชร์ภาพวิถีชีวิตแสนจะเรียบง่าย และดูสบายๆ กับบรรยากาศแบบท้องนา โดยมีเจ้าทองคำควายเพื่อนรู้ใจ เข้าเฟรมถ่ายรูปด้วยด้วยท่าทางยิ้มแฉ่ง มองกล้อง อย่างน่าเอ็นดู จนมีผู้แชร์ภาพออกไปอย่างกว้างขวางและกดไลค์ให้กับความน่ารักของทั้งคู่ แต่ต่อมาเจ้าของควาย เจ้าทองคำ ได้ขายควายให้พ่อค้าในราคา 1 แสนบาท จนเกิดการระดมทุนเพื่อช่วยให้เจ้าทองคำอยู่กับนายสุรัตน์แต่ก็ไม่วายเกิดเรื่องสุดวุ่นขึ้น เมื่อมีคนออกมาเปิดเผยว่าการรับบริจาครั้งนี้ไม่โปร่งใส จนมีการแจ้งความดำเนินคดีกับนายสุรัตน์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการยึดของกลางคือเจ้าทองคำเอาไว้ ต่อมานายสุรัตน์เข้าเจรจาพร้อมกับมอบข้อมูลหลักฐานต่างๆจนเรื่องราวคลี่คลายได้เจ้าทองคำไปเลี้ยงดูตามเดิม

 

     

     

 

 

 

อีตู้

 

อีตู้ เป็นควายไทย เพศเมีย อายุ 10 ปี เจ้าของคือ นายอ่อน ช่างเหล็ก อธิบายว่า อีตู้ เป็นควายไทยที่มีเขาแปลกประหลาดไปกว่าควายทั่วๆ ไป เพราะเขาของอีตู้มีเขาหยักโค้งลง แนบขนาบกับใบหูของมัน ทำให้คนที่ผ่านมาพบเห็นต้องพากันเข้าไปขอถ่ายรูปกับอีตู้ นายอ่อนยังเล่าให้ฟังว่า อีตู้ ตนซื้อต่อมาจากเกษตรกรในจังหวัดเดียวกันเมื่อหลายปีแล้วในราคา 2 หมื่นบาท อีตู้เป็นควายไทยเพศเมีย ให้ลูกมาแล้วหลายตัว ซึ่งตอนซื้อมาทีแรกอีตู้ก็มีเขาโค้งขึ้นสวยงามเหมือนควายตัวอื่นๆ ทั่วไป แต่หลังจากนำอีตู้มาเลี้ยงไว้ได้ประมาณ 1 ปี เขาของอีตู้เริ่มก็เริ่มโค้งลงเรื่อยๆ และเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน แต่เขาของอีตู้กลับเป็นที่ชื่นชอบของคนที่ผ่านมาพบเห็นมัน

 

เจ้าบุญค้ำนำโชค

 

เจ้าบุญค้ำนำโชคเป็นควายเผือกสีชมพูนิสัยแสนรู้ เชื่องสนิทสนมกับคน ที่วัดวังอ้อ ตำบลบ้านเสี้ยว อำเภอฟากท่า ชื่อเจ้าบุญค้ำนำโชค เป็นขวัญใจชาวบ้าน หลังถูกไถ่ชีวิตจากโรงเชือด โดยพระมหาสุทิศ สุนทะโร เจ้าอาวาสวัดวังอ้อ ได้ขอซื้อมาในราคา 8,000 บาท โดยความแสนรู้ของมันจะชอบขึ้นไปนั่งฟังพระสวดบนศาลา ร่วมกับชาวบ้านด้วยกิริยาท่าทางเรียบร้อย และเมื่อพระสวดเสร็จก็จะเดินลงศาลาไปพร้อมกับญาติโยมอย่างมีมารยาท

 

 

 

 

เบิ้ม พันล้าน

 

เบิ้ม พันล้าน ควายไทยเพศผู้ เจ้าของแชมป์ประกวดควายไทยหลายสนาม ราคาค่าตัว 5 ล้านบาท เจ้าบ่าวในงานแต่งงานควายพันธุ์ไทย ซึ่งเจ้าสาวคือ ‘บัวบาน’ควายไทยเพศเมีย ราคาค่าตัว 7 แสนบาท ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเป็นประธานในพิธี โดยมีสินสอดเป็นน้ำเชื้อ 100 ล้านตัว และหญ้าเนเปียร์ 20 กิโลกรัม ซึ่งเมื่อทั้งคู่ได้พบหน้ากันก็เกิดรักแรกพบ ปรี่เข้ามอบจูบแสนหวานให้แก่กันท่ามกลางเสียงเฮร้องแสดงความยินดีจากแขกที่มาร่วมงานด้วยบรรยากาศสุดชื่นมื่น สำหรับการจัดงานแต่งงานควายในครั้งนี้ เป็นการขยายและอนุรักษ์พันธุ์ควายไทย เพื่อไม่ให้สูญพันธุ์เป็นกิจกรรมหนึ่งในการจัดงานมหกรรมปศุสัตว์นครชัยบุรินทร์ โดยมีเกษตรกรจาก จ.นครราชสีมา, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์ และจ.สุรินทร์ นำสัตว์เลี้ยงมาร่วมประกวดประเภทสัตว์ต่างๆเป็นจำนวนมาก

 

 

 

Admin : AreeWrite