‘โขน’ นาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย ผสานศิลปะหลายแขนง ตัวละครแต่งองค์ทรงเครื่องสุดตระการตา

0
7793

โขน เป็นการแสดงทางศิลปะ หรือที่เรียกกันว่า นาฏศิลป์ มักนิยมแสดงเป็นมหกรรมบูชาเจ้านายชั้นสูง เช่น แสดงในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระศพ หรือแสดงเป็นมหรสพสมโภช เช่น ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และแสดงเป็นมหรสพเพื่อความบันเทิงในโอกาสทั่ว ๆ ไป

โขน ขึ้นชื่อว่าเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงที่เก่าแก่ของไทย และเป็นการแสดงที่รวมศิลปะหลายแขนง เช่น ท่าต่อสู้โลดโผน ท่ารำท่าเต้นมาจากกระบี่กระบอง และมีการนำศิลปะการพากย์การเจรจา หน้าพาทย์เพลงดนตรี โดยผู้แสดงจะสวมศีรษะ คือ หัวโขนปิดหน้า ซึ่งเรื่องที่แสดงนิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์และอุณรุฑ ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงโขนใช้วงปี่พาทย์

ประเภทของโขน แบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ

1. โขนกลางแปลง คือ การเล่นโขนบนพื้นดิน ณ กลางสนาม ไม่ต้องสร้างโรงให้เล่น หรือใช้ภูมิประเทศและธรรมชาติเป็นฉากในการแสดง นิยมแสดงตอนยกทัพรบกัน มีการเต้นประกอบหน้าพาทย์และอาจมีบทพาทย์และเจรจาบ้าง แต่ไม่มีบทร้อง

 

2. โขนโรงนอก หรือโขนนั่งราว เป็นการแสดงบนโรงมีหลังคา ไม่มีเตียงสำหรับตัวโขนนั่ง แต่มีราวพาดตามส่วนยาวของโรงตรงหน้าฉาก มีช่องทางให้ผู้แสดงเดินได้รอบราวแทนเตียง มีการพากย์และเจรจา แต่ไม่มีการร้อง ปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ มีปี่พาทย์ 2 วง

 

3. โขนหน้าจอ คือ โขนที่เล่นตรงหน้าจอ ซึ่งเดิมเขาขึงไว้สำหรับเล่นหนังใหญ่ ในการเล่นหนังใหญ่นั้น มีการเชิดหนังใหญ่อยู่หน้าจอผ้าขาว การแสดงหนังใหญ่มีศิลปะสำคัญ คือการพากย์และเจรจา มีดนตรีปี่พาทย์ประกอบการแสดง ผู้เชิดตัวหนังต้องเต้นตามลีลาและจังหวะดนตรี

 

ขอบคุณภาพ Photo by Natt

 

4. โขนโรงใน คือ โขนที่นำศิลปะของละครในเข้ามาผสม โขนโรงในมีปี่พาทย์บรรเลง 2 วงผลัดกัน การแสดงก็มีทั้งออกท่ารำเต้น ทีพากย์และเจรจาตามแบบโขน กับนำเพลงขับร้องและเพลงประกอบกิริยาอาการ ของดนตรีแบบละครใน และมีการนำระบำรำฟ้อนผสมเข้าด้วย

 

 

5. โขนฉาก การแสดงแบ่งเป็นชุดเป็นตอน เป็นฉากตามท้องเรื่อง จึงมีการตัดต่อเรื่องใหม่ไม่ให้ย้อนไปย้อนมา เพื่อสะดวกในการจัดฉาก กรมศิลปากรได้ทำบทเป็นชุดๆ ไว้หลายชุด โดยทั่วไปนิยมแสดงเรื่อง รามเกียรติ์ ซึ่งมีหลายสำนวน ทั้งที่ประพันธ์ขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์