ภัยร้ายจากตะเกียบคีบหมูดิบ เสี่ยงไข้หูดับ !

0
1242

เตือนภัย ! คนรักสายชาบู ปิ้งย่าง เชื่อว่าเป็นอาหารยอดฮิตที่ใครหลายคนโปรดปราน
แต่รู้หรือไม่ว่าภัยร้ายที่แฝงมานั้นอันตรายกว่าที่คิด

เนื่องจากคนส่วนใหญ่เวลารับประทาน ก็มักจะเคยชินกับการใช้ตะเกียบคีบหมูดิบลงเตาปิ้งหรือหม้อต้ม ต่อจากนั้นก็ยังคงใช้ตะเกียบอันเดิมในการรับประทานอาหารเข้าปาก แต่พฤติกรรมดังกล่าวนี้ที่เสี่ยงต่อการนำไปสู่อันตรายที่ถึงแก่ชีวิตได้

ถึงแม้ว่าเชื้อโรคนี้จะถูกทำงานด้วยความร้อน การกินหมูสุก 100% ที่ว่าปลอดภัยแล้ว แต่รู้หรือไม่ ? อันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้คือ แม้ว่าจะปิ้งย่างหมูจนสุกก่อนรับประทานแล้ว แต่หากใช้ “ตะเกียบ” คีบหมูดิบมาปิ้งย่าง แล้วใช้ตะเกียบคู่เดิมคีบหมูที่สุกแล้วเข้าปาก เชื้อโรคที่ติดมากับตะเกียบตอนคีบเนื้อหมูดิบ ก็อาจติดไปกับหมูที่ปิ้งจนสุก แล้วเข้าปากเราได้อยู่ดี

วันนี้เราจึงจะพามาทำความรู้จักกับ “โรคไข้หูดับ” ภัยร้ายที่อันตรายกว่าที่คิด

โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus Suis) ซึ่งเชื้อนี้จะอยู่ในต่อมทอนซิล ระบบทางเดินอาหาร และช่องคลอดของหมู เป็นสาเหตุของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ สามารถติดต่อได้จากสัตว์สู่คน จากการรับประทานอาหารที่มีเนื้อสัตว์ดิบ และการติดจากสัมผัสสัตว์ที่มีเชื้อ ผ่านบาดแผลตามร่างกาย

อาการของโรคไข้หูดับ      

  • ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ
  • ปวดเมื่อยตามตัว และตามข้อ
  • มีไข้ขึ้นสูง
  • เกิดอาการชัก
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • พิการ เช่น หูหนวก กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • เสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด และภาวะช็อก  (Streptococcal Toxic Shock Syndrome)

การป้องกันโรคไข้หูดับ

  • ไม่รับประทานเนื้อหมูที่ไม่สุก และหมูที่ป่วยเป็นโรคตาย
  • สวมอุปกรณ์ เช่น ถุงมือ ถุงเท้า และรองเท้าบูท เมื่อต้องสัมผัสหมู หลังจากสัมผัสหมูแล้ว ควรล้างมือ ล้างเท้า ชำระร่างกายให้สะอาด
  • ควรทำอาหารจากเนื้อหมูด้วยการปรุงสุก จากความร้อนที่อุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียส นานอย่างน้อย 10 นาที
  • การกำจัดเชื้อในฟาร์มตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้หมูเกิดการป่วย และระบาดทั่วทั้งฟาร์ม

ดังนั้น ทางที่ดีที่สุด จึงควรขอตะเกียบเพิ่มอีกคู่ แยกใช้ระหว่างคีบหมูดิบ กับคีบหมูที่สุกแล้วเข้าปากกันคนละคู่ หรือใช้ที่คีบหมูในการคีบหมูดิบเท่านั้น ห้ามใช้ตะเกียบตัวเอง จะดีที่สุด