เปิดประวัติ “ชุดครุย” ชุดแห่งความสำเร็จในวันจบการศึกษา

0
21371

ภารกิจสำคัญอันดับต้นๆ ของชีวิต คงหนีไม่พ้นการสำเร็จการศึกษา กว่าทุกคนจะผ่านมาได้นั้น มีทั้งความยากลำบากและต้องมีความตั้งใจที่สูงมาก เพื่อที่จะได้เข้ารับปริญญาบัตร และสำหรับบางคน “ชุดครุย” หรือชุดรับปริญญา อาจถือเป็นชุดที่ได้ใส่แค่ครั้งเดียวในชีวิตเลยก็ว่าได้

 

ชุดครุย หรือ ครุยวิทยฐาน ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีที่ต่างประเทศด้วย โดยแรกเริ่มของประวัติศาสตร์ชุดครุยนั้นเกิดขึ้นที่ยุโรป มีหลักฐานเกี่ยวข้องกันในช่วงศตวรรษที่ 12 การศึกษาส่วนใหญ่นั้นจะเริ่มต้นที่สถาบันศาสนาอย่าง คริตสจักร การเรียนการสอนจึงอยู่ในโบสก์เป็นหลัก และเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว สภาพอากาศที่เย็นจัดจนถึงขั้นหิมะตก จึงทำให้นักเรียนต้องใส่เสื้อคลุมใหญ่ ๆ และหมวกคุลมศรีษะเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ต่อมา ช่วงศตวรรษที่ 14 ได้มีข้อบังคับว่าด้วยการแต่งกายเพื่อเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษา มีการระบุให้แต่งกายด้วยชุดคลุมยาวเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการกำหนดให้เป็นกฎระเบียบลายลักษณ์อักษร ไม่ใช่การใส่เพื่อป้องกันความหนาวอย่างเช่นในอดีต

ภาพชุดครุยในช่วงศตวรรษที่ 13
(ที่มา : Graduationsource )

เมื่อเข้าสู่ช่วงรัชสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 แห่งอังกฤษ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford) และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge) ได้เริ่มมีข้อกำหนดให้สวมเสื้อคลุมยาว หรือ เสื้อครุย เพื่อเข้าเรียนในสถาบัน ขณะที่สหรัฐอเมริกาในช่วงที่อังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคมก็ได้กำหนดให้นักศึกษาสวมเสื้อครุยเพื่อเข้าเรียน เช่นกัน แต่จุดสำคัญที่สร้างความเปลี่ยนแปลงการใช้งานของ ชุดครุย คือช่วงที่สหรัฐฯปลดแอกตนเองและแยกตัวออกมาจากอังกฤษ ทางสหรัฐฯจึงยกเลิกการใส่ชุดครุยในการเข้าเรียนและเปลี่ยนมาใส่เฉพาะวันที่สำเร็จการศึกษาแทน

ขณะที่ในประเทศไทยนั้นเริ่มใช้ ชุดครุย มาตั้งแต่สมัยอยุธยา รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถือเป็นเครื่องใช้ในราชสำนัก ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ ตลอดจนขุนนางข้าราชการใช้สวมเข้าร่วมในการพระราชพิธีสำคัญ เพื่อเป็นการแสดงบรรดาศักดิ์และตำแหน่งของผู้สวมใส่ และถือเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ ที่พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานให้แก่ผู้ที่ทำความดีความชอบมาจนถึงสมัยปัจจุบัน

กระทั่งในปี พ.ศ. 2440 ได้มีการสวมใส่ชุดครุยวิทยาฐานะ (ครุยปริญญาหรือครุยบัณฑิต) เป็นที่เชิดชูเกียรติผู้ที่สำเร็จวิชาการจากมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยขั้นสูง โดยให้ผู้ที่สอบไล่วิชากฎหมายได้เป็นเนติบัณฑิตมีสิทธิสวมเสื้อครุย เรียกว่า เสื้อเนติบัณฑิต จนในช่วงปี พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย และปี พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระราชกำหนดเสื้อครุยบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น เป็นลักษณะผ้าโปร่งสีขาว แบบเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ พระราชทานเนติบัณฑิต มี 3 ชั้น คือชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี และชั้นพิเศษ

ภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระพันปีหลวง ทรงฉลองพระองค์ชุดครุยเนติบัณฑิต
( ที่มา : ทนายดนตร์ )

โดยในปัจจุบัน มีมหาวิทยาลัยถูกก่อตั้งขึ้นมามากมา และแต่ละมหาวิทยาลัยได้รูปแบบชุดครุยในลักษณะที่ต่างกันไป เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นชุดครุยสีขาวแถบทองสลับดำ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นชุดครุยสีดำ และมีแถบพาดบ่าที่มีสีต่างกันไปตามสีประจำคณะ, เทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ เป็นชุดครุยสีแดงตัดแถบสีทองขอบดำ

ภาพชุดครุยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
( ที่มา : ud_awat )

ภาพชุดครุยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
( ที่มา : thanaerngnin )

ภาพชุดครุยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
(ที่มา : gulfkanawut )