สิ้นสุดการรอคอย มรดกโลกแห่งที่ 7 ของไทย “เมืองโบราณศรีเทพ”

0
158

ข้อมูลจากกรมศิลปากรเมืองโบราณศรีเทพ ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ จัดอยู่ในบริเวณเขตที่สูงภาคกลาง 

เมืองโบราณศรีเทพมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 8-18 เป็นเมืองที่มีความสำคัญมากแห่งหนึ่งในสมัยทวารวดี มีการติดต่อรับคติความเชื่อทางศาสนาหลายศาสนาและนิกาย ทั้งพุทธศาสนาแบบเถรวาทและมหายาน รวมไปถึงศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีการติดต่อสัมพันธ์กับวัฒนธรรมใกล้เคียงตั้งแต่วัฒนธรรมอินเดีย ขอม และทวารวดีจากแหล่งอื่นๆ 

นอกจากวัฒนธรรมอินเดีย ขอมและทวารวดีแล้ว ยังปรากฏร่องรอยการเดินทางมาของชาวจีน โดยพบจารึกบนพระพิมพ์เป็นอักษรจีนมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 สลักชื่อภิกษุ “เหวินเซียง” อันแสดงถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับจีนและความสำคัญของเมืองโบราณศรีเทพในยุคสมัยดังกล่าว ที่ทำให้คนจากต่างถิ่นต้องมาเยือน

ลักษณะทางกายภาพของเมืองโบราณศรีเทพ เป็นเมืองที่มีคูเมืองกำแพงเมืองล้อมรอบ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย เมืองในและเมืองนอก มีพื้นที่ประมาณ 4.7 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,889 ไร่ ประกอบไปด้วย

เขาคลังนอก

 

เขาคลังใน

 

ปรางค์สองพี่น้อง

 

ปรางค์ศรีเทพ

 

ปรางค์ฤๅษี

กรมศิลปากร ใช้เวลาขุดตกแต่งและบูรณะเมืองโบราณศรีเทพนาน 10 ปี แปรสภาพเนินเขากลางชุมชน กลายเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ อายุราว 1,500-1,700 ปี ซึ่งตามข้อมูลของกรมศิลปากร ระบุว่า อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เป็นหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์ 10 แห่งของไทยที่จัดตั้งขึ้นโดยกรมศิลปากร ในปี พ.ศ. 2527

ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2566 ได้มีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ณ กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 10-25 ก.ย.2566 เมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย และเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 7 ของไทย ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างมาก