สงครามตัวหนังสือ

0
959


ขอบคุณภาพจาก freestocks

หนังสือพิมพ์ทางการของจีน “Reference News”โดยสำนักข่าวซินหัว ตีพิมพ์บทความ “อย่าปล่อยให้อารมณ์ทำลายมิตรภาพจีน – ไทย” มีการแสดงความคิดเห็นต่อ”สงครามตัวหนังสือ” ที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สรุปได้ 4 ข้อหลักดังนี้

1. รัฐบาลจีนไม่สามารถทนต่อความคิดเห็นที่บ่อนทำลายหลักการ “จีนเดียว” ได้
2. ควรเป็นเรื่องแค่เฉพาะตัวบุคคล โดยไม่จำเป็นต้องทำให้สถานการณ์ใหญ่โต
3. มีบุคคลที่สามที่ยั่วยุให้เกิดความแตกแยก โดยประชาชนจีนและไทยควรรับรู้และนิ่งเฉยต่อการกระทำนี้
4. อารมณ์ของชาวเน็ตอาจจะทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้ ฉะนั้นทั้งสองฝ่ายควรสงบนิ่ง

บทความนี้ยังชื่นชมความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างทางการจีนและไทย รวมถึงประชาชน พร้อมย้ำว่า “จีน-ไทยครอบครัวเดียวกัน”

แปลสรุปจากบทความ 别让情绪化冲动,毁了中泰友好

https://bit.ly/2z0o8Og

คราวนี้มาถึงเหตุการณ์                “สงครามตัวหนังสือ” ระหว่างนักรบคีย์บอร์ดไทยกับจีน จนเกิดแฮชแท็ก #nnevvy ติดเทรนด์อันดับหนึ่งในโลกทวิตเตอร์

หนึ่งในชนวนที่ทำให้เกิดการถล่มกันไปมาระหว่างชาวเน็ตไทยกับชาวเน็ตจีน ก็คือไต้หวันและฮ่องกง ซึ่งสำหรับจีนแล้วถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและลึกซึ้งมาก คนภายนอกมองเข้าไปบางทีอาจจะไม่เข้าใจถึงความซับซ้อนและเรื่องราวต่างๆมากมายที่เกิดขึ้นจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

ในประเด็นไต้หวันนั้น จีนยึดถือนโยบายจีนเดียว หรือ One-China policy โดยหลักการคือ แม้จีนจะแบ่งเป็น 2 ดินแดน แต่ความเป็นประเทศจีนมีเพียงหนึ่งเดียวและจะไม่มีการยอมให้ไต้หวันเป็นเอกเทศ ซึ่งนโยบายจีนเดียวนั้น มีที่มาย้อนกลับไปช่วงปี 1949 หลังจากที่เจียง ไค-เช็ก แพ้การครอบครองแผ่นดินใหญ่ให้กับจีนคอมมิวนิสต์ ก็ได้หนีไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นบนเกาะฟอร์โมซา หรือ เกาะไต้หวันรวมถึงสถาปนาให้ไต้หวันเป็นสาธารณรัฐจีน ส่วนฝ่ายคอมมิวนิสต์จีนก็ได้สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนบนแผ่นดินใหญ่ โดยต่างก็อ้างว่าตนคือรัฐบาลจีนที่แท้จริงเรื่อยมา ซึ่งปัจจุบันมีประเทศที่รับรองจีนแผ่นดินใหญ่เป็นจีนที่แท้จริงมากกว่า 180 ประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น ส่วนประเทศที่ยอมรับไต้หวันเป็นจีน มีอยู่ 15 ประเทศทั่วโลก

ส่วนประเด็นฮ่องกง เดิมทีก็เป็นส่วนหนึ่งของจีนอยู่แล้ว ก่อนที่อังกฤษจะบีบให้จีนทำสัญญาเช่าปกครองฮ่องกง 99 ปี หลังสงครามฝิ่นครั้งที่สอง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2441 แน่นอนใน 99 ปีนั้น รูปแบบการปกครองของฮ่องกงก็ย่อมแตกต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ ในส่วนของฮ่องกง ระบอบการปกครองเป็นรูปแบบประชาธิปไตย การค้าแบบทุนนิยมเสรี และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เศรษฐกิจฮ่องกงเติบโตจนกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงิน ซึ่งจีนก็ได้รับผลดีไปด้วย พอมาถึงปี พ.ศ. 2540 อังกฤษก็ได้ส่งมอบฮ่องกงคืนให้กับจีนแผ่นดินใหญ่หลังสัญญาเช่าหมดลง ด้วยเงื่อนไขที่ว่า ฮ่องกงจะต้องอยู่ในสถานะของ “เขตปกครองตนเอง” ไปอีก 50 ปี เพื่อให้มีการปรับตัว เปลี่ยนถ่ายระบบอย่างไร้รอยต่อมากที่สุด แต่หนึ่งในชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในฮ่องกงจนนำมาสู่การชุมนุมก็คือ การนำเสนอร่างกฏหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเข้าสภา ซึ่งชาวฮ่องกงมองว่าถ้ากฏหมายฉบับนี้ผ่านสภาไปได้ ฮ่องกงก็จะต้องส่งตัวผู้ร้ายไปดำเนินคดีที่จีน ซึ่งนั่นอาจหมายถึงสิทธิและเสรีภาพของชาวฮ่องกงก็จะหมดไป แต่ท้ายที่สุดร่างกฏหมายฉบับนี้ก็ได้ถูกถอนออกจากสภาไปแล้ว

จากประวัติคร่าวๆ ก็จะพอเห็นได้ว่าทำไมชาวจีนจำนวนไม่น้อยถึงมีปฏิกิริยาในเชิงรักชาติเมื่อมีการแตะถึงประเด็นไต้หวันและฮ่องกง แน่นอนไม่ใช่คนจีนทุกคนจะเห็นด้วยกับการใช้วาจารุนแรงของคนจีนบางกลุ่มในการปกป้องชาติ เช่นในเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่ก็ไม่ได้แปลพวกเขาเหล่านั้นจะไม่รักชาติ เพียงแต่พวกเขาอาจจะเห็นว่าความสัมพันธ์ที่ดีงามระหว่างไทยกับจีนนั้นมีค่ามากกว่า “ความเข้าใจผิด” ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ก็เป็นได้

#nnevvy

ขอขอบคุณภาพจาก  Waranont (Joe) Charles Deluvio