เสาชิงช้าถือเป็นสถานที่ยอดนิยมของคนในกรุงเทพฯ รวมไปถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่จะมาเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และถ่ายรูปเช็กอินสวยๆ ในการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
เสาชิงช้า ถือเป็นสถาปัตยกรรมที่ตั้งอยู่ในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้าเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อประกอบพระราชพิธีตรียัมปวาย หรือพิธีโล้ชิงช้า ตามคติความเชื่อของพราหมณ์ เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพระนคร และเป็นการแสดงความกตัญญูต่อเทพ 3 องค์ ได้แก่ พระอิศวร พระพิฆเณศวร และพระนารายณ์
ประวัติเสาชิงช้า
“เสาชิงช้า” เป็นสิ่งก่อสร้างสมัยยุคต้นรัตนโกสินทร์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2327 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตามคติความเชื่อแบบพราหมณ์ เสาชิงช้าสร้างขึ้นบนพื้นที่สะดือเมือง เป็นศูนย์กลางของพระนคร โดยวัดจากกำแพงเมืองด้านแม่น้ำเจ้าพระยาตะวันตกถึงป้อมมหากาฬ เสาชิงช้าตั้งอยู่บนฐานปูนสูงเป็นวงกลม เสาไม้สูงใหญ่ประดับด้วยแผ่นไม้ฉลุที่ฐานเสาทั้ง 2 ข้าง มีเสาตะเกียบปลายเป็นรูปทรงมัณฑ์ขนาบข้างละ 2 ต้น ทาด้วยสีแดงชาด
เสาชิงช้าที่ตั้งอยู่หน้าวัดสุทัศน์ ณ ปัจจุบันเป็นเสาต้นใหม่เป็นไม้สักทองเมืองแพร่ผ่านพิธีสมโภชน์ เมื่อวันที่ 11 – 13 กันยายน พ.ศ. 2550 เนื่องจากเสาต้นเก่าชำรุดทรุดโทรม ซึ่งเปลี่ยนมาเป็นครั้งที่ 4 เนื่องจากเสาชิงช้าเป็นสิ่งก่อสร้างสูงย่านพระนคร จึงต้องติดตั้งสายล่อฟ้าไว้บนกระจังด้านบนลงดิน เพื่อป้องกันความเสียหาย กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเสาชิงช้าเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
การเดินทางมายังเสาชิงช้า
สามารถเดินทางได้โดยรถยนต์ส่วนตัว รถไฟฟ้าใต้ดินลงสถานีสนามไชย
รถประจำทางสาย 12, 24 หรือรถปรับอากาศสาย 12 จอดรถยนต์ส่วนตัวได้ที่ถนนรอบวัดสุทัศน์ ถนนดินสอ และลานจอดเอกชนใกล้เคียง โดยสังเกตป้ายรับฝากรถ และป้ายจอดรถวันคู่ วันคี่
ที่ตั้ง : หน้าวัดสุทัศน์ฯ ถนนบำรุงเมือง แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ